การบาดเจ็บที่ศีรษะ (ไม่รวมนัยน์ตา) จะไม่เกิดขึ้นบ่อยครั้งนักเมื่อเทียบกับการบาดเจ็บที่บริเวณส่วนอื่นอันเนื่องมาจาการปฏิบัติงาน แต่ก็เป็นสาเหตุให้เกิดอาการสาหัสได้เพราะศีรษะมีความเกี่ยวเนื่องกับสมองโดยตรง
หากไม่ปกป้องศีรษะให้ดีแล้วอาจทำให้เกิดอันตรายสำคัญ 2 ประการ คือ (1). สมองกระทบกระเทือน (2). กะโหลกศีรษะร้าว อันตรายดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้หากศีรษะไปกระแทกกับของแข็งหรือวัสดุอื่นๆ
1. การกระทบกระเทือนทางสมอง
การบาดเจ็บทางสมองอาจมีผลมาจากการเคลื่อนตัว อย่างรุนแรงฉับพลันของสมองซึ่งอยู่ภายในกะโหลกศีรษะ ทำให้สมองไปชนกับกะโหลกศีรษะด้านใดด้านหนึ่ง และขาดหลุดออกจากกะโหลกศีรษะอีกด้านหนึ่ง นอกจากนี้ยังอาจทำให้เส้นเลือดฝอยที่เลี้ยงสมองฉีกขาดออกจากเยื่อสมองที่ยึดอยู่ได้ ระดับความรุนแรงของอาการบาดเจ็บขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง ของการกระแทกโดยมีอาการตั้งแต่อาการบาดเจ็บทางสมองแบบชั่วคราว (ช็อก) หรือเสียหายแบบถาวร (สมองใช้งานไม่ได้ อาการโคม่า หรือเสียชีวิต)
2. กะโหลกศีรษะร้าว
อาการอีกอย่างหนึ่งของการบาดเจ็บทางศีรษะคือ กะโหลกศีรษะร้าว ซึ่งโดยทั่วไปแล้วไม่ควรจะร้ายเท่าอาการร้าวของกระดูกส่วนอื่นๆ แต่ว่าหากกะโหลกศีรษะแยกตัวออกจนกระทั่งวัตถุแปลกปลอมอื่นๆ สามารถเข้าไปในช่องสมองได้อาจทำให้เกิดความเสียหายของสมองแบบถาวรได้สภาพกะโหลกศีรษะร้าว อาจเกิดขึ้นหากแรงกดดันภายในบริเวณกะโหลกศีรษะสูงขึ้นถึงจุดหนึ่ง ยิ่งบริเวณที่ถูกกดดันเล็กเท่าใดแรงกดดันจะสูงขึ้นเท่านั้น และโอกาศที่กะโหลกศีรษะจะแยกออกจากกันก็มีมากขึ้น
การป้องกัน
หมวกนิรภัยเป็นอุปกรณ์ ที่ได้รับการยอมรับและนำมาใช้กันอย่างกว้างขวางโดยถือเป็นอุปกรณ์อย่างหนึ่ง ที่สำคัญในการป้องกันอันตรายในโรงงานอุตสาหกรรมในปัจจุบัน พนักงานจำนวนมากจะปลอดภัยจากอาการบาดเจ็บสาหัสและรอดชีวิตจากอุบัติเหตุเมื่อสวมหมวกที่มีความแข็งแรงทนทาน
หมวกนิรภัยควรมีหน้าที่สำคัญ 2 ประการ คือ:
1. ทำให้แรงกระแทกเบาลงและลดแรงกดดันที่ศีรษะ
2. กระจายแรงกระแทกให้เป็นบริเวณกว้างขึ้นเพื่อลดความรุนแรงของแรงกระแทกลง
องค์การเกี่ยวกับอุปกรณ์ป้องกันทางอุตสาหกรรม (ISEA) กล่าวว่า ไม่ควรละเลยในการบำรุงรักษาหมวกที่ใช้ในการทำงาน เพราะนอกเหนือไปจากประโยชน์ดังกล่าวเบื้องต้นแล้ว หมวกนิรภัยยังช่วยป้องกันอันตรายสภาวะแวดล้อมอื่นๆ เช่น ความร้อน ความเย็น สารเคมีต่างๆ รวมทั้งแสงอุลตร้าไวโอเล็ตอีกด้วย